วิธีสร้างบุญอย่างง่ายด้วยตัวเอง

10 วิธีทำบุญหนุนชีวิตให้เจริญรุ่งเรือง

(บุญกิริยาวัตถุ 10)

คนไทยเป็นคนใจบุญ ทุกวันนี้มีการทำบุญกันหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการถวายสังฆทาน, ตักบาตร, บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก, ทะนุบำรุงวัดในถิ่นทุรกันดาร, พิมพ์เผยแผ่ธรรมะเป็นธรรมทาน, ไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ ซึ่งการทำบุญเหล่านี้ล้วนอยู่ในส่วนของการ “ให้ทาน” เป็นหลัก ซึ่งจริงๆแล้วการทำบุญในพระพุทธศาสนาไม่ได้จำกัดเฉพาะการให้ทานเท่านั้น แต่ยังสามารถทำได้ถึง 10 วิธีด้วยกัน ซึ่งเรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ 10” ประกอบไปด้วย

 

1. ทานมัย (บุญสำเร็จจากการให้ทาน)

เป็นการเสียสละ แบ่งปัน เผื่อแผ่ สิ่งของเครื่องใช้ เงินทอง กำลังความรู้ความสามารถเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อลดความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ถี่เหนียว ความคับแคบของจิตใจให้น้อยลง ดังคำที่ได้ยินกันว่า “จิตของผู้ให้นั้นเบา จิตของผู้คิดจะเอานั้นหนัก” ซึ่งจุดประสงค์หลักของทานมัยก็เพื่อลดกิเลสในจิตใจให้เบาบางลง เมื่อรู้จักให้ผู้อื่นด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ปราศจากความต้องการได้รับสิ่งของตอบแทนก็จะทำให้เราเกิดความสบายใจ มีความละเอียดของอารมณ์ที่มากขึ้น ทานมัยไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินทองเสมอไป หากเรารู้จักให้อภัยผู้อื่นก็ถือว่าเป็น “อภัยทาน” แล้ว ก็บังเกิดบุญจากทานมัยเช่นกัน

 

อานิสงส์ของทานมัยส่งผลให้ผู้ให้เกิดความสุข เป็นที่รักของคนหมู่มาก อีกทั้งยังเป็นที่มาของทรัพย์สมบัติ และโภคทรัพย์ทั้งปวงอีกด้วย

 

2. สีลมัย (บุญสำเร็จจากการรักษาศีล)

คือการรักษาดำรงตนให้ตั้งมั่นในศีล “ศีล” ตามหลักพระพุทธศาสนาคือหลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยทั้งทางกาย และวาจา ผู้ที่มีศีลเหมาะกับสถานะของตน เช่น ฆราวาสทั่วไปก็ถือศีล 5 หรือศีล 8 จะเป็นคนที่ดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ไม่ทำอะไรที่ไปเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ อีกทั้งยังเป็นการลด ละ เลิกความชั่ว มุ่งทำแต่ความดี เปรียบเสมือนการเตรียมความพร้อมทั้งทางกาย และวาจาในเบื้องต้นเพื่อการปฏิบัติธรรมขั้นสูงต่อไป

อานิสงส์ของสีลมัยส่งผลให้มีความสุขกาย สุขใจ เกิดโภคทรัพย์ และสามารถใช้สอยทรัพย์นั้นได้เต็มอิ่ม ปราศจากความหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงทรัพย์คืน

 

3. ภาวนามัย (บุญสำเร็จจากการเจริญภาวนา)

เป็นการทำบุญอีกรูปแบบหนึ่งที่มุ่งพัฒนาจิตใจ และปัญญา ให้เกิดความสงบนิ่งภายในใจ เป็นเกราะกำบังจิตใจจากสิ่งกระทบภายนอก เพื่อให้เราสามารถมองเห็นสรรพสิ่งในโลกนี้ตามความเป็นจริง ปราศจากจิตคิดปรุงแต่ง เช่นการนั่งวิปัสสนา ทำสมาธิ เป็นต้น หรือแม้แต่การสวดมนต์ประจำวันก็ถือว่าเป็นการทำบุญในข้อภาวนามัยนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการสวดมนต์เป็นการภาวนา เรียนรู้ ไตร่ตรองบทสวดมนต์ที่เราได้สวดด้วยเหตุด้วยผล แล้วนำไปปฏิบัติ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ จากใจที่สกปรก มืดมัว เร่าร้อน สู่ใจที่สะอาด สว่าง และสงบในที่สุด

อานิสงส์ของภาวนามัยส่งผลให้มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ผิวพรรณผ่องใส สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีความจำดี มีกำลังปัญญาที่กล้าแข็ง เป็นคนใจคอเยือกเย็น บุคลิกภาพสง่างาม มีมิตรสหายมาก สมบูรณ์ด้วยปัจจัย 4 ปราศจากอกุศลทั้งปวง และอายุยืน

 

4. อปจายนมัย (บุญสำเร็จจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน)

คือการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้อื่น เช่นผู้น้อยมีความเคารพต่อผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ก็ให้ความเมตตากับผู้น้อย ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน หลักใหญ่ใจความของการปฎิบัติอปจายนมัยคือการลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของเราลง ทลายทิฐิมานะ เพื่อให้ผู้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

อานิสงส์ของอปจายนมัยส่งผลให้มีมิตรสหายมาก ได้รับคำชมเชยอยู่เสมอ มีความสมบูรณ์ในทรัพย์ และได้พบเห็นแต่สิ่งที่ตนปรารถนา

 

5. เวยยาวัจจมัย (บุญสำเร็จจากการขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น)

เป็นการสละกำลังกาย กำลังใจเพื่อช่วยเหลือบุคคลอื่น ซึ่งบุญที่ได้มาจากจิตภายในที่ดีงาม ปราศจากโลภะ โทสะ และโมหะ เพราะหากขณะที่ช่วยเหลือเกิดมีกิเลส 3 ประการนี้ การช่วยเหลือก็คงจะไม่สำเร็จ ดังนั้นจึงเปรียบเสมือนการขัดเกลาจิตใจให้ลดละโลภะ โทสะ และโมหะไปในตัว

อานิสงส์ของเวยยาวัจจมัยส่งผลให้มีความเป็นอยู่ดี มีความสุขกายสุขใจ มีมิตรสหายมาก และมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

 

6. ปัตติทานมัย (บุญสำเร็จจากการให้ส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว) 

เป็นการทำบุญให้สุดคือเมื่อได้บุญแล้วก็ทำการอุทิศบุญกุศลนั้น เผื่อแผ่แก่ผู้อื่น ทั้งมนุษย์ และอมนุษย์ทั้งปวง ให้ผู้อื่นได้รับบุญ และร่วมอนุโมทนากับบุญที่เราได้สร้าง จิตขณะอุทิศนั้นเป็นกุศลอย่างยิ่ง นอกจากนี้เมื่อเรามีโอกาสได้ทำบุญใดๆ ก็ควรชักชวนผู้อื่นให้มาร่วมบุญด้วย ไม่ควรงกเอาไว้ทำคนเดียว

 อานิสงส์ของปัตติทานมัยส่งผลให้ปราศจากความยากจน ห่างไกลโรคภัย มีบริวารที่ดี เป็นที่รักของผู้พบเห็น และอายุยืน

 

7. ปัตตานุโมทนามัย (บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา)

คือบุญที่เกิดจากการร่วมยินดีที่ผู้อื่นได้ทำบุญ เช่น กล่าว “สาธุ” ร่วมอนุโมทนาในความดี และมีส่วนร่วมในการทำความดีนั้น แม้ว่าเราจะไม่มีโอกาสได้ทำเอง แต่การแสดงความรับรู้ด้วยจิตใจที่ปิติยินดีในบุญกุศลนั้น ผลบุญก็จะบังเกิดกับผู้ร่วมอนุโมทนาด้วยเช่นกัน

อานิสงส์ของปัตตานุโมทนามัยส่งผลให้สุขภาพสมบูรณ์ มีฐานะดี มากไปด้วยลาภสักการะ

 

8. ธัมมัสสวนมัย (บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม)

เป็นการเจริญสติปัญญา จากการฟังธรรมด้วยจิตใจที่ศรัทธา มีความเข้าใจในหลักธรรมนั้นๆอย่างถูกต้อง เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป จิตขณะฟังธรรมด้วยความตั้งใจนั้นเป็นกุศล อันจะส่งผลบุญแก่ผู้ที่ได้รับฟังอย่างแน่นอน

อานิสงส์ของธัมมัสสวนมัยส่งผลให้มีจิตใจผ่องใส เข้าใจหลักธรรมอย่างถูกต้อง

 

9. ธัมมเทสนามัย (บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม)

เป็นการอนุเคราะห์ให้ผู้อื่นได้เข้าใจในหลักธรรมที่ถูกต้อง เป็นการมอบธรรมทานอันก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการเจริญสติปัญญาแก่ผู้ที่ได้รับฟัง หรือแม้แต่การปฏิบัติในทางที่ดีที่ชอบทั้งกาย วาจา ใจ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้ผู้อื่นเกิดความศรัทธา เลื่อมใส และปฏิบัติตามก็ถือเป็นบุญกุศลจากธรรมเทศนามัยด้วยเช่นกัน

อานิสงส์ของธัมมเทสนามัยส่งผลให้หลุดพ้นจากทุกข์ นำไปถึงพระนิพพานได้ บุตรและบริวารให้ความเคารพ เชื่อฟัง

 

10. ทิฏฐุชุกรรม (การทำความเห็นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง)

คือการประพฤติตัวอยู่ในครรลองคลองธรรม มองเห็นสิ่งต่างๆรอบตัวความสภาพความเป็นจริง อันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปัญญา และส่งผลให้บุญกุศลเจริญขึ้นตามลำดับ ซึ่งความเห็นถูกนี้เองที่ช่วยให้บุญกิริยาวัตถุ 10 เกิดและค่อยๆเจริญขึ้น ความเห็นถูกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่น หากบำเพ็ญทานมัยซึ่งเป็นบุญกิริยาวัตถุข้อแรก ก็ต้องมีความเข้าใจถูกว่า ทานมี ผลมาก โดยเฉพาะการให้ทานแด่เนื้อนาบุญ หรือการบำเพ็ญภาวนามัย หากสวดมนต์ก็มิใช่สวดเพียงเพราะคล่องปากเท่านั้น แต่ต้องสวดด้วยใจที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยจริงๆ และมีสมาธิจดจ่อกับบทสวด เป็นต้น อย่างนี้จึงจะเกิดผลบุญมาก

กล่าวโดยย่อก็คือ ในขณะที่เราอ่านเรื่องบุญกิริยาวัตถุ 10 นี้ เมื่อเราเกิดความเข้าใจ เมื่อนั้นปัญญาก็เริ่มทำหน้าที่ของมัน ในการน้อมนำจิตใจให้เข้าสู่ทางอันเป็นกุศล ก่อให้เกิดบุญต่างๆตามมานั่นเอง 

 

 

บทความนี้มีอยู่ในหนังสือ

สร้างบุญ (รหัส 9008)

สนใจพิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมทาน คลิก

Visitors: 239,090